วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

:: ภูมิปัญญาที่น่าสนใจ..ธูปหอมทองตะนาว จ.อุทัยธานี ::

“ทองตะนาว”เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์และคำว่า“ทองตะนาว”นี้เป็นนามสกุลของ อาจารย์ ชาตรี ทองตะนาว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการทำธูปหอมหอมทองตะนาว เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนเกาะเทโพ นอกเหนือจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวจังหวัดอุทัยธานี


แต่เดิมนั้น อาจารย์ชาตรี ทองตะนาวกับพวกได้ไปปล้นสะดมเพื่อหวังสมบัติ แต่เมื่อได้หีบสมบัติมา ก็พบว่าข้างในนั้นเป็นตำราการทำธูปหอม จึงได้นำตำราดังกล่าวไปคืนให้กับเจ้าของแต่เจ้าของไม่รับคืน ดังนั้นท่านอาจารย์ชาตรี จึงได้นำตำราธูปหอมที่ได้มา กลับมาศึกษาและหัดทำตามตำรามาเรื่อยๆอย่างจริงจัง จนได้เริ่มก่อตั้งโรงธูปทองตะนาว ซึ่งปัจจุบันได้ก่อตั้งมาได้ 5 ปีกว่าแล้ว เนื่องจากคนไทยนับถือศาสนาพุทธ การบูชาพระไหว้พระจะต้องใช้ธูปกำยาน เพื่อความเป็นศิริมงคล และมีการพัฒนาจากธูปไหว้พระธรรมดา เป็นธูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน แล้วพัฒนาเป็นชุดเครื่องหอมไทยสากล ธูปกันยุง ตามลำดับ


การทำธูปนั้นเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตในเรื่องของความเชื่อซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ธูปถือว่าเป็นสื่ออย่างหนึ่งในการที่มนุษย์ใช้ติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ การกราบไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งความเชื่อในลักษณะนี้มีความเชื่อมานานนับร้อยปี และมีอยู่ในทุกชุมชน โดยวิวัฒนาการของธูปนั้นก็มีเพิ่มขึ้นตามยุคสมัยเช่นในเรื่องของ สี กลิ่น ขนาด หรือการพัฒนาให้แท่งขี้ธูปมีรูปร่างอักขระหรือภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติเหล่านี้นั้นยังคงอยู่คู่กับคนไทยและไม่สามารถลบเลือนได้ และทำให้ภูมิปัญญาในการทำธูปนั้นยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันธูปนั้นมีรูปแบบและการใช้งานอย่างหลากหลายมากขึ้น จัดว่าการทำธูปนั้นเป็นภูมิปัญญาสั่งสม เริ่มจากการทำธูปที่ใช้ในการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตที่ยังคงใช้คนในการทำ และในเรื่องของวัตถุดิบในการทำธูปนั้นก็ยังสามารถหาได้ในท้องถิ่น ถึงแม้จะเพิ่มรูปแบบของธูปนอกเหนือจากการธูปแบบธรรมดาที่ใช้ไหว้เป็น ธูปหอมสมุนไพร ธูปไล่ยุง ธูปหอมใช้ผ่อนคลาย รวมถึงการต่อยอดในการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบคล้ายคลึงกัน ออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่ยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ในอดีต

ซึ่งภูมิปัญญาในการทำธูปหอมทองตะนาวของชุมชนเกาะเทโพนี้ สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นชุมชนเกษตรกรรม และความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือการยังคงใช้วิธีการผลิตคือยังใช้แรงงานคนอยู่ ซึ่งจะต้องมีความชำนาญสูง เพราะใช้มือทำทุกขั้นตอน โดยจะแตกต่างกับบางแห่งที่ใช้เครื่องจักรทำแทนกำลังคนแทบทั้งสิ้น ด้วยความที่ชุมชนในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม จึงยังคงไว้ซึ่งการทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ โดยมีการทำธูปเป็นอาชีพเสริม และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญานี้สืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันในลักษณะของทำสืบต่อกันมาเพราะใช้มือในการทำ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝนจึงจะสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการผลิตให้เร็วและได้ครั้งละมากๆ แต่ชุมชนนี้ก็ยังใช้กรรมวิธีแบบดั้งเดิมต่อไป ถือเป็นเอกลักษณ์ในการทำธูปหอมของชุมชน เกาะเทโพที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด รองลงมาคือวัตถุดิบอย่างเช่นตัวก้านธูปที่ใช้ไม้ไผ่สีสุก ซึ่งเป็นไม้ไผ่ที่มีอยู่มากใน ต.เกาะเทโพ มีประสิทธิภาพในการติดไฟสูงซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้ทำธูปเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงสมุนไพรต่างๆที่ใช้ในการปรุงกลิ่น สี ของธูปที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่นเช่นมะกรูด ตะไคร้ แป้งร่ำ มะลิ ฯลฯ ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก http://www.geocities.com/uthaiwisdom