วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

:: ภูมิปัญญาที่น่าสนใจ..ธูปหอมทองตะนาว จ.อุทัยธานี ::

“ทองตะนาว”เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์และคำว่า“ทองตะนาว”นี้เป็นนามสกุลของ อาจารย์ ชาตรี ทองตะนาว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการทำธูปหอมหอมทองตะนาว เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนเกาะเทโพ นอกเหนือจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวจังหวัดอุทัยธานี


แต่เดิมนั้น อาจารย์ชาตรี ทองตะนาวกับพวกได้ไปปล้นสะดมเพื่อหวังสมบัติ แต่เมื่อได้หีบสมบัติมา ก็พบว่าข้างในนั้นเป็นตำราการทำธูปหอม จึงได้นำตำราดังกล่าวไปคืนให้กับเจ้าของแต่เจ้าของไม่รับคืน ดังนั้นท่านอาจารย์ชาตรี จึงได้นำตำราธูปหอมที่ได้มา กลับมาศึกษาและหัดทำตามตำรามาเรื่อยๆอย่างจริงจัง จนได้เริ่มก่อตั้งโรงธูปทองตะนาว ซึ่งปัจจุบันได้ก่อตั้งมาได้ 5 ปีกว่าแล้ว เนื่องจากคนไทยนับถือศาสนาพุทธ การบูชาพระไหว้พระจะต้องใช้ธูปกำยาน เพื่อความเป็นศิริมงคล และมีการพัฒนาจากธูปไหว้พระธรรมดา เป็นธูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน แล้วพัฒนาเป็นชุดเครื่องหอมไทยสากล ธูปกันยุง ตามลำดับ


การทำธูปนั้นเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตในเรื่องของความเชื่อซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ธูปถือว่าเป็นสื่ออย่างหนึ่งในการที่มนุษย์ใช้ติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ การกราบไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งความเชื่อในลักษณะนี้มีความเชื่อมานานนับร้อยปี และมีอยู่ในทุกชุมชน โดยวิวัฒนาการของธูปนั้นก็มีเพิ่มขึ้นตามยุคสมัยเช่นในเรื่องของ สี กลิ่น ขนาด หรือการพัฒนาให้แท่งขี้ธูปมีรูปร่างอักขระหรือภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติเหล่านี้นั้นยังคงอยู่คู่กับคนไทยและไม่สามารถลบเลือนได้ และทำให้ภูมิปัญญาในการทำธูปนั้นยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันธูปนั้นมีรูปแบบและการใช้งานอย่างหลากหลายมากขึ้น จัดว่าการทำธูปนั้นเป็นภูมิปัญญาสั่งสม เริ่มจากการทำธูปที่ใช้ในการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตที่ยังคงใช้คนในการทำ และในเรื่องของวัตถุดิบในการทำธูปนั้นก็ยังสามารถหาได้ในท้องถิ่น ถึงแม้จะเพิ่มรูปแบบของธูปนอกเหนือจากการธูปแบบธรรมดาที่ใช้ไหว้เป็น ธูปหอมสมุนไพร ธูปไล่ยุง ธูปหอมใช้ผ่อนคลาย รวมถึงการต่อยอดในการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบคล้ายคลึงกัน ออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่ยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ในอดีต

ซึ่งภูมิปัญญาในการทำธูปหอมทองตะนาวของชุมชนเกาะเทโพนี้ สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นชุมชนเกษตรกรรม และความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือการยังคงใช้วิธีการผลิตคือยังใช้แรงงานคนอยู่ ซึ่งจะต้องมีความชำนาญสูง เพราะใช้มือทำทุกขั้นตอน โดยจะแตกต่างกับบางแห่งที่ใช้เครื่องจักรทำแทนกำลังคนแทบทั้งสิ้น ด้วยความที่ชุมชนในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม จึงยังคงไว้ซึ่งการทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ โดยมีการทำธูปเป็นอาชีพเสริม และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญานี้สืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันในลักษณะของทำสืบต่อกันมาเพราะใช้มือในการทำ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝนจึงจะสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการผลิตให้เร็วและได้ครั้งละมากๆ แต่ชุมชนนี้ก็ยังใช้กรรมวิธีแบบดั้งเดิมต่อไป ถือเป็นเอกลักษณ์ในการทำธูปหอมของชุมชน เกาะเทโพที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด รองลงมาคือวัตถุดิบอย่างเช่นตัวก้านธูปที่ใช้ไม้ไผ่สีสุก ซึ่งเป็นไม้ไผ่ที่มีอยู่มากใน ต.เกาะเทโพ มีประสิทธิภาพในการติดไฟสูงซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้ทำธูปเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงสมุนไพรต่างๆที่ใช้ในการปรุงกลิ่น สี ของธูปที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่นเช่นมะกรูด ตะไคร้ แป้งร่ำ มะลิ ฯลฯ ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก http://www.geocities.com/uthaiwisdom

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

:: ภูมิหลังของนิทานพื้นบ้านเรื่องท้าวปาจิตกับนางอรพิม ::

ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พ.ศ.๒๐๒๕ - ๒๐๓๔)
ได้กล่าวถึงนิทานเรื่องท้าวปาจิตไว้ใน "โคลงทวาทศมาส" ความว่า

ประจิตเจียนเหน้าหน่อ ................อรพินท

พระพิราไลยปลง.........................ชีพแล้ว
คืนสมสุดาจินต...........................รสร่วม กันนา
กรรมแบ่งกรรมแก้วแก้ว.............ช่วยกรรม

มหา สุรารินทร์ (สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย) ได้อรรถาธิบาย ถึง นิทานเรื่อง ท้าวปาจิตนางอรพิม ความว่า นิทานเรื่องท้าวปาจิตนางอรพิมเป็นตำนานเมืองพิมาย (นิทานปัญญาสชาดก เรื่อง "ปาจิตตกุมารชาดก") เป็นกลอนแปด ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เอกสารสมุดไทย ค้นพบที่ วังหลัง ลีลากลอนสุภาพของสุนทรภู่นั้นมีแม่แบบจาก ตำนานท้าวปาจิตนางอรพิม (ตำนานเมืองพิมาย) ชำระพิมพ์โดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ อนึ่ง ต้นเรื่องนิทานคำกลอนจันทโครพก็มีความคล้ายคลึงกับนิทานเรื่องท้าวปาจิตนางอรพิมพ์ รวมถึง ฉากลาวัดในกลอนรำพันพิลาปของสุนทรภู่ ตรงกับฉาก ภายในวัดเทพธิดาราม ผู้ชำระนิทานเรื่องนี้คือทิพวัน บุญวีระ ข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร

ก่อนที่กรมศิลปากรจะเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับปราสาทหินพิมาย คนท้องถิ่นในพิมายมีความรับรู้เกี่ยวกับพิมายอยู่แล้ว แต่เป็นความเชื่อที่เล่าต่อกันมา ปากต่อปาก ถ่ายทองจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งในรูปของนิทานเรื่อง "ท้าวปาจิตกับนางอรพิม" ซึ่งรายละเอียดของเรื่องอาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละถิ่น แต่เค้าโครงเรื่องทั่วไปจะมีความคล้ายคลึงกันดังเนื้อเรื่องที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

นักวิชาการอธิบายว่านิทานเรื่องนี้คงเกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้คนโยกย้ายเข้ามาอยู่ในพิมาย ซึ่งโดยมากจะเป็นคนจากล้านช้างที่เข้ามาสมัยอยุธยา ผู้คนเหล่านี้คงไม่สามารถสืบหาคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาของโบราณวัตถุและโบราณสถานในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้ จึงสร้างเรื่องราวขึ้นมาบอกเล่าเป็นนิทานท้องถิ่นหรือนิทานพื้นเมือง ซึ่งต่อมานิทานเรื่องนี้ได้ถูกนำมารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ อยู่ในรูปของชาดกหรือเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในชื่อเรื่อง "ปาจิตตกุมารชาดก" ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าเป็นกลวิธีในการยกระดับนิทานพื้นบ้านให้มีความน่าเชื่อถือและมีความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง



หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนิทานเรื่องท้าวปาจิตกันางอรรพิมนั้น
มีหลายสำนวน บางสำนวนกล่าวว่า ทั้งสองได้กลับมาครองเมืองพิมาย ท้าวปาจิตทรงพระนามตามกษัตริย์องค์เดิมว่า พระเจ้าพรหมทัต และได้จัดงานพระศพพระเจ้าพรหมทัตองค์ก่อนอย่างสมพระเกียรติ สร้างเมรุเป็นหอสูงกลางใจเมืองชื่อว่า เมรุพรหมทัต ซึ่งปจจุบันสถานที่แหล่งนี้อยู่ห่างจากปราสาทหินพิมายประมาณ ๓๐๐ เมตร โดยเมรุพรหมทัตนี้เป็นซากโบราณสถานที่ตั้งอยู่กลางเมืองพิมายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมาย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยที่ กรมหมื่นเทพพิพิธมาประทับอยู่ที่เมืองพิมาย ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ได้ตั้งตนเป็นเจ้าพิมาย แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าเมรุพรหมทัต ด้วยเข้าใจว่าสถานที่นี้เป็นที่ถวายเพลิงพระศพของท้าวพรหมทัต ในตำนานพื้นบ้านเรื่องท้าวปาจิตกับนางอรพิมนั่นเอง



อีกสถานที่หนึ่งคือ"ปรางค์พรหมทัต" ตั้งชื่อตามพระเจ้าพรหมทัต ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยศิลาแลงมีส่วนประกอบบางส่วนเป็นหินทราย ใน ปรางค์พรหมทัตนี้ได้พบประติมากรรมซึ่งมีรูปสลักข้างในที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปของพระเจ้าพรหมทัตและของนางอรพิม ตามตำนาน แต่หลักฐานโบราณคดีนั้นคือรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งสมาธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระรูปเหมือน พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และประติมากรรมสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทรายเช่นกัน จึงน่าจะเป็นพระนางชัยราชเทวีมเหสีของพระองค์ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครทั้งสองรูป

:: ท้าวปาจิตกับนางอรพิม (ตำนานเมืองพิมาย) ::

ท้าวปาจิต เป็นโอรสพระเจ้าอุทุมราช กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองนครธม เมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่ม พระบิดาก็ให้เลือกคู่ครองโดยการให้ทหารไปประกาศเรียกหญิงสาว บรรดามีในเมืองนั้นมาให้ท้าวปาจิตเลือก สาวที่มามีทั้งลูกสาวเสนา อำมาตย์ ข้าราชการ ลูกพ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ มากันจนหมดเมือง ท้าวปาจิตไม่สนใจเลยสักคนเดียว จึงมิได้คล้องมาลัยให้สาวคนไหน พระเจ้าอุมุมราชได้ให้โหรทำนายโชคชะตาราศีและเนื้อคู่แก่พระโอรส โหรหลวงตรวจดูดวงชะตาตามวันเดือนปีเกิดแล้ว กราบทูลว่าเนื้อคู่ของท้าวปาจิตยังไม่เกิด ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่งในเขตเมืองพิมาย ท้าวปาจิตจะต้องเดินทางไปหาหญิงผู้นั้น ที่อยู่ของหญิงผู้นี้อยู่ทางทิศพายัพของนครธม ซึ่งสังเกตได้ง่ายว่ามีครรภ์และมีเงากลดกั้นอยู่

ท้าวปาจิตไม่รอช้า รีบเร่งออกเดินทางไปตามคำทำนายของโหรจนกระทั่งมาถึงเขตเมืองพิมาย ท้าวปาจิตไม่แน่ใจจึงกางแผนที่ออกดูที่ตรงนั้นเรียกในภายหลังว่า บ้านกางตำรา และเพี้ยนเป็น บ้านจารตำรา ท้าวปาจิตข้ามถนนเพื่อเข้าเขตเมือง บริเวณนั้นเรียกว่า บ้านถนนแล้วเดินมาตามทางถึงหมู่บ้านหนึ่งมีต้นสนุ่นมาก ได้ชื่อว่า บ้านสนุ่น เลยบ้านสนุ่นก็มาถึงท่าน้ำใหญ่ ปัจจุบันเรียก บ้านท่าหลวง แต่ปรากฎว่าเป็นทางผิด จึงไปอีกทางหนึ่งถึง บ้านสำริด พบหญิงครรภ์แก่ชื่อ ยายบัว กำลังดำนาอยู่ เหนือหัวของนางมีเงาคล้ายกลดกั้นอยู่ ก็แน่ใจว่าใช่ตามคำทำนาย จึงเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นใคร มีความประสงค์อะไร และแสดงความตั้งใจว่าจะอยู่ช่วยทำนาให้จนกว่าจะคลอดลูก หากลูกเป็นชายจะยกย่องให้เป็นน้องชาย แต่ถ้าเป็นหญิงจะขอนำไปเป็นมเหสี ยายบัวก็ตกลง


ท้าวปาจิตอาศัยอยู่กับยายบัวเรื่อยมา ช่วยทำงานทุกอย่างทั้งดำนา เลี้ยงโคกระบือ เกี่ยวข้าว ตีข้าว จนยายบัวครบกำหนดคลอด จึงไปตามหมอตำแยมาทำคลอด (หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านตำแย) ทารกในครรภ์ยายบัวเป็นเพศหญิงตรงตามคำทำนายของโหร ยายบัวตั้งชื่อให้ว่า อรพิน แต่ในภาษาท้องถิ่นจะเรียกว่า อรพิม มีหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผ่องใส เป็นที่พอใจแก่ท้าวปาจิตยิ่งนัก ครั้นนางเจริญวัยเป็นสาวสวยก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กับท้าวปาจิต วันหนึ่งท้าวปาจิตได้บอกให้นางทราบว่าตนจะกลับไปบ้านเมืองเพื่อยกขันหมากจากนครธมมารับนางไปอภิเษกสมรสที่นครธม แล้วก็ลานางไป

เมื่อมาถึงนครธม ท้าวปาจิตได้นำความขึ้นบังคมทูลต่อพระเจ้าอุทุมราชพระบิดาจึงให้จัดขบวนขันหมากมีจำนวนรี้พลมากมาย เดินทางไปเมืองพิมาย โดยที่หารู้ไม่ว่า บัดนี้ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับนางอรพิม นั่นคือ พระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองเมืองได้ทราบข่าวความงามของนางจึงได้ให้พระยารามไปนำตัวนางมาไว้ในพระราชวัง นางอรพิม สุดจะขัดขืนได้จำต้องมา และตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้ามิใช่ท้าวปาจิตแล้ว ผู้ใดแตะต้องนางก็ขอให้กายนางร้อนเหมือนไฟ พระเจ้าพรหมทัตจึงแตะต้องนางมิได้ กระบวนขันหมากของท้าวปาจิตยกออกจากนครธมมาหลายคืนหลายวัน จนมาถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง (อยู่ในตำบลงิ้ว ปัจจุบันนี้) ท้าวปาจิตให้ทหารหยุดกระบวนขันหมาก เพื่อให้ทหารและสัตว์พาหนะได้พักและบริโภคน้ำ ชาวบ้านเห็นผู้คนมากันมากมายจึงเข้ามาไต่ถามว่ามาทำไมและจะไปไหน พวกทหารตอบว่าจะไปบ้านสำริด เพราะพระโอรสกษัตริย์เมืองขอมจะแต่งงานกับสาวบ้านนี้ ชาวบ้านถามชื่อหญิงนั้น ทหารบอกว่าชื่อนางอรพิม ชาวบ้านจึงเล่าให้ฟังว่า พระเจ้าพรหมทัตได้นำตัวเข้าไปไว้ในปราสาทเสียแล้วทั้งพระเจ้าอุทุมราชและท้าวปาจิตตกพระทัยยิ่งนัก โดยเฉพาะท้าวปาจิตโกรธมากถึงกับโยนข้าวของเครื่องใช้ขันหมากทิ้งแม่น้ำหมด (ที่ตรงนั้นเรียกว่าลำมาศหรือลำปลายมาศที่ไหลไปสู่ลำน้ำมูลจนทุกวันนี้) ส่วนรถทรงก็ตีล้อดุมรถและกงรถจนหักทำลายหมด ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้จนที่เรียกว่า บ้านกงรถ จากนั้นท้าวปาจิตได้ขออนุญาตไปตามนางตามลำพัง พระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารจึงเดินทางกลับนครธม ท้าวปาจิตไปพบยายบัว ปลอบโยนนางว่าจะใช้ปัญญานำนางอรพิมออกมาให้ได้ แล้วปลอมตัวเป็นลูกชายยายบัวเข้าไปตามหาน้องสาวชื่อ อรพิมไปบอกนายประตูว่าจะขอเข้าเยี่ยมน้องสาว นายประตูถามว่าใคร ท้าวปาจิตตอบว่า นางอรพิม ซึ่งจะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตในไม่ช้านี้ นายประตูพาไปพบนางอรพิม นางร้องว่า อ้อ พี่มา... (คำนี้เพี้ยนเป็นพิมายในปัจจุบันนี้) พระเจ้าพรหมทัตมาพบนางอรพิม เห็นท้าวปาจิตจึงถามว่าใคร นางตอบว่าเป็นพี่ชายของนาง พระเจ้าพรหมทัตถามว่าทำมาหากินอะไร ทำไร่ทำนา หรือค้าขายอะไร ท้าวปาจิตตอบว่าค้าขายทางไกล ทราบว่าน้องจะอภิเษกเป็นพระมเหสีจึงมาอวยพรให้ และอยากรู้จักพระองค์ให้พระองค์รู้จักตนด้วย พระเจ้าพรหมทัตดีใจ เพราะนางอรพิม จะได้ยอมเป็นพระมเหสีอย่างที่เคยลั่นวาจาไว้ จึงให้หาเหล้ายาอาหารมาเลี้ยงดู ท้าวปาจิตดื่มเล็กน้อยแต่พระเจ้าพรหมทัตถูกนางอรพิมมอมเหล้าเสียจนเมามายเสียสติ ท้าวปาจิตจึงใช้พระขรรค์ฟันคอขาดอยู่ ณ ที่นั้น แล้วอุ้มนางอรพิมหนีออกมา

ท้าวปาจิตและนางอรพิม เดินทางมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง พอดีเป็นเวลารุ่งสว่างพบนายพรานคนหนึ่งชื่อ พรานนกเอี้ยง ออกมาเที่ยวล่าเนื้ออยู่ พรานนกเอี้ยงเห็นนางอรพิมสวยก็นึกรักนาง จึงใช้หน้าไม้ยิงท้าวปาจิตตายแล้วพานางไป นางทำเลห์กลว่ามีกำลังน้อยเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยมากจะเดินทางไม่ไหว ถ้ามีรถหรือเกวียนหรือช้างม้าให้นางนั่งไป นางก็ยินดีจะไปด้วย พรานหลงเชื่อไปหากระบือมาให้นางขี่ ตัวนายพรานนั่งข้างหน้าคอยบังคับกระบือ นางอรพิมนั่งข้างหลังพอได้โอกาสก็ใช้พระขรรค์ท้าวปาจิตแทงนายพรานตาย นางกลับมาที่ศพท้าวปาจิต ร่ำไห้คร่ำครวญอยู่จนพระอินทร์เกิดความสงสารชวนพระเวสสุกรรม แปลงกายเป็นงูกับพังพอนสู้กัน เมื่อพังพอนตาย งูก็ไปกัดเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมาเคี้ยวพ่นใส่บาดแผลพังพอน พังพอนจึงฟื้นขึ้นต่อสู้กันต่อไป ครั้นงูตายพังพอนก็ทำเช่นเดียวกัน สัตว์ทั้งสองผลัดกันตายผลัดกันฟื้นเช่นนี้เป็นเวลาพอสมควรแล้วหายไป นางอรพิม เฝ้าสังเกตอยู่ เห็นหนทางที่จะทำให้ท้าวปาจิตฟื้นจึงไปเอาเปลือกไม้มาเคี้ยวพ่นใส่บาดแผลท้าวปาจิตเช่นกัน ท้าวปาจิตฟื้นขึ้นได้ช่วยกันเก็บเปลือกไม้ติดตัวไปเท่าที่จะนำไปได้แล้วออกเดินทางต่อไปยังนครธม

หลังจากรอนแรมกันมาเป็นเวลาพอประมาณ ก็มาถึงฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งซึ่งกว้างมากไม่มีเรือแพหรือขอนไม้จะข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้ จึงนั่งปรึกษาหาหนทางอยู่ ขณะนั้นมีเถนคนหนึ่ง ชาวบ้านเรียก เถนเรือลอย เพราะเถนลงเรือไปบิณฑบาตตามแม่น้ำเป็นประจำ เถนพายเรือผ่านมา ท้าวปาจิตขอร้องให้ช่วยส่งข้ามฟากให้ด้วย เถนเห็นนางอรพิมสวยมาก็คิดจะพานางไปกับตน จึงบอกว่าเรือลำนี้ขึ้นได้ครั้งละ 2 คนเท่านั้นมิฉะนั้นเรือจะล่ม ท้าวปาจิตจำต้องให้นางอรพิมไปกับเถนก่อน เถนพานางลอยน้ำไปเรื่อย ๆ ท้าวปาจิตจะเรียกอย่างไรก็มิได้หยุด จึงต้องพลัดพรากกันอีกครั้งหนึ่ง นางอรพิมต้องคิดอุบายหนีจากเถนจนกระทั่งมาพบต้นมะเดื่อต้นหนึ่งสูงมาก ลูกดกเต็มต้นผลงาม ๆ น่ากินทั้งนั้น นางบอกเถนว่าอยากกินมะเดื่อ ให้เถนปีนขึ้นไปเก็บมาให้ เอาลูกที่งามที่สุดอร่อยที่สุดสุกที่สุดซึ่งจะอยู่บนยอดสูง เถนหลงเชื่อปีนต้นไม้ไปหาลูกมะเดื่อที่นางต้องการนางรีบเอาหนามมาสะไว้โคนต้น แล้วลงเรือพายหนีไป ก่อนไปได้สั่งไว้เป็นวาจาสิทธิ์ว่าให้เถนอยู่บนต้นมะเดื่ออย่าไปไหน เถนจึงตายอยู่บนต้นมะเดื่อนั่นเอง ก่อนตายได้แช่งให้มีแมลงหวี่มาเกิดในลูกมะเดื่อทุกลูกไป

นางอรพิมพายเรือกลับมาหาท้าวปาจิตแต่ไม่พบ จึงจอดเรือแล้วขึ้นฝั่งเที่ยวตามหาจนพระอินทร์เกิดความสงสารลงมาประทานแหวนให้วงหนึ่งบอกนางว่า ถ้าสวมไว้ที่นิ้วชี้จะกลายร่างเป็นชายแต่ถ้าถอดออกสวมนิ้วอื่นจะกลายเป็นหญิงดังเดิม นางอรพิมจึง ควักนมทั้งสองข้างออกมา ปาเข้าป่า กลายเป็นต้น "นมนาง" จากนั้นนางจิกแก้มอวบอิ่มจิ้มลิ้มเป็นพวง เหวี่ยงทิ้งไปกลายเป็นต้น "แก้มอ้น" และควักโยนีขึ้นปาเข้าป่ากลายเป็นต้น "โยนีปีศาจ" นางจึงสวมแหวนที่นิ้วชี้จึงกลายร่างเป็นชาย เดินติดตามท้าวปาจิตต่อไป พบใครที่ไหนก็สอบถามว่าเห็นใครรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ไหม รู้จักคนชื่อท้าวปาจิตไหม สอบถามจนทั่วแล้วก็ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือเห็นเลย นางจึงร่อนเร่ไปโดยอยู่ในเพศชายตามลำพังจนกระทั่งมาถึงเมืองหนึ่ง ชื่อ จัมปากนคร เมืองจัมปากนครที่นางอรพิมมาถึงนี้ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเมืองมีพระราชธิดาสวยงามมากแต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรตาย หมอคนใดก็ช่วยไว้ไม่ได้ ชาวเมืองพากันร้องไห้อาลัยรักนางอยู่ นางอรพิมรู้เข้าก็อยากจะลองช่วยนางดู ให้คนพาไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ทูลขออนุญาตรักษา เมื่อพระองค์อนุญาต นางอรพิมได้ใช้เปลือกไม้ที่ได้จากป่าคราวรักษาท้าวปาจิตมาเคี้ยวพ่นใส่พระราชธิดาจนฟื้นขึ้น พระมหากษัตริย์และพระญาติดีใจมาก ปรึกษากันว่าจะให้นางอรพิมอภิเษกกับพระธิดา แต่นางอรพิมบ่ายเบี่ยงว่าขอเวลาสักปีหรือสองปีให้ได้บวชเรียนและศึกษาศิลปศาสตร์ให้จบก่อน พระมหากษัตริย์จำต้องยอมตามใจ หลังจากนั้นไม่นานนัก นางอรพิมจึงขอลาไปตามหาท้าวปาจิตด้วยความรู้สึกสิ้นหวังว่า คงจะไม่พบกันเป็นแน่แล้ว นางไปอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้แตกฉานมากพระในวัดและศิษย์ตลอดจนชาวบ้านก็ยกให้เป็นพระสังฆราช นางอรพิมให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่งเขียนภาพเล่าเรื่องนางกับท้าวปาจิตที่ฝาผนัง ตั้งแต่ท้าวปาจิตได้อาศัยอยู่กับยายบัวจนถึงตอนนางมาบวชอยู่แต่ละตอนละเอียดครบถ้วนกระบวนความ นางสั่งไว้ว่า หากมีผู้ใดที่มาดูภาพเขียนฝาผนังแล้วร้องไห้ให้คนเฝ้าโบสถ์รีบไปบอกให้รู้ทันที วันหนึ่งท้าวปาจิตเดินทางมาถึงเมืองนี้ ได้เข้าพักอาศัยในโบสถ์ และนอนหลับไป ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ครั้นตื่นขึ้นมองไปรอบ ๆ เห็นภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ ได้ลุกไปเดินดูโดยรอบ รู้ว่าเป็นเรื่องราวของตนกับนางอรพิม จึงทรุดลงร่ำไห้อยู่ตรงนั้น คนเฝ้าโบสถ์เห็นรีบนำความไปเล่าให้พระสังฆราชรู้ พระสังฆราชให้นำท้าวปาจิตไปพบ ท้าวปาจิตสอบถามความเป็นมาของรูปเขียน พระได้เล่าให้ฟังและบอกว่าตนคือนางอรพิม จากนั้นก็ถอดแหวนออกสวมที่นิ้วนาง กลายรูปเป็นหญิงตามเดิม ทั้งสองสวมกอดกันร่ำไห้ด้วยความยินดีเป็นที่สุด แล้วนางอรพิมก็บอกลาชาววัดและชาวบ้านเดินทางกลับนครธม พระเจ้าอุทุมราชมีความยินดีมาก อภิเษกให้ท้าวปาจิตเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ ทั้งสองครองเมืองกันอย่างมีความสุขสืบมา

:: มารู้จักนิทานพื้นบ้านกัน ::

โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๒๖ กล่าวถึง นิทานพื้นบ้าน ไว้ว่า คือ เรื่องที่เล่ากันต่อๆมาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งโดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง เช่น นิทานเรื่องสังข์ทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม เป็นการเล่าจากปู่ยาตายายของเรา พ่อแม่ของเรารวมทั้งตัวเราเองไปสู่ลูกหลานเหลนโหลนของเราเป็นทอดๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า บ้างครั้งก็แพร่กระจายจากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง

นิทานพื้นบ้านหมายถึง เรื่องที่เล่าสืบกันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยวาจา แต่ก็มีจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกไว้แล้ว (กิ่งแก้ว อัตถาวร ๒๕๑๙ : ๑๒) การศึกษารวบรวมนิทานพื้นบ้านได้กระทำกันอย่างจริงจัง เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา นิทานเป็นมรดกของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ทุก ๆ วัฒนธรรม มีทั้งความแตกต่างหลากหลาย และความเหมือนกัน นิทานถือว่าเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง และมีความสำคัญในการเข้าถึงวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน (Element of Culture) (Stith Thompson : ๑๙๔๖)ลักขณา ดาวรัตนหงษ์ (๒๕๒๘)

นิทานพื้นบ้านมีความสำคัญ 3 ประการ เช่นกันคือ
1. ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเจ้าของนิทาน เช่น ความรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ จารีตประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม สภาพเศรษฐกิจ ภูมิประเทศ และถิ่นฐานบ้านเรือน เช่น เรื่องพ่อตากับลูกเขย ลูกเขยกับแม่ยาย แสดงให้เห็นระบบครอบครัวไทยที่นิยมให้สามีไปอยู่บ้านภรรยา ตำนานท้องถิ่นให้คำอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนั้นรูปแบบการเล่านิทานที่ใช้คำประพันธ์เข้ามาช่วย เช่น แหล่ เทศน์ เสภา ยังช่วยสร้างความงามด้านรูปแบบอีกโสดหนึ่งด้วย ดังนั้นหากเยาวชนได้เรียนรู้ นิทานพื้นบ้านของตน จึงเป็นช่องทางในการรู้ตนเอง สามารถอธิบายตนเองได้ รวมทั้งอาจจะบอกได้ถึงข้อดีและข้อจำกัดในวัฒนธรรมนั้น ๆ ของตนได้
2. ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ปรกติแล้วผู้เล่านิทานมักเป็นผู้ใหญ่หรือผู้มีประสบการณ์ และผู้ฟังมักจะเป็นเด็กหรือมีประสบการณ์น้อยกว่า การเล่านิทานพื้นบ้านเป็นกิจกรรมที่ยังความชื่นชอบในหมู่ผู้ฟังทุกหมู่ทุกเหล่า ปัจจุบันการเล่านิทานก็ยังมีอยู่โดยทั่วไป เพียงแต่จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรือผู้ฟังเท่านั้น
3. สอนหรือสอดแทรกศีลธรรม จริยธรรมหรือให้คติเตือนใจ นอกเหนือจากบทบาท ๒ ประการ ดังกล่าวแล้ว นิทานยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ สื่อปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ศีลธรรม คุณธรรม แก่ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น นิทานชาดกต่าง ๆ นิทานอีสป นิทานสุภาษิต นิทานในศาสนาต่าง ๆ นิทานเหล่านี้ล้วนสอนให้ ผู้ฟังได้ตระหนักถึงคุณธรรมที่พึงประสงค์ ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น สอนให้มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้ยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้า สอนให้ระวังการใช้คำพูด สอนให้ไม่ประมาทในความสามารถของผู้อื่น

โดยนักคติชนวิทยาได้แบ่งนิทานไทยออกเป็น ๑๑ ประเภท
๑.นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา มักเป็นนิทานที่เล่าถึงกำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ สัตว์และพืช เพื่ออธิบายการเกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ลม ฝน สุริยคราส จันทรคราส เป็นต้น หรือเป็นการเล่าตำนานสร้างโลก เช่น เรื่องปู่สางสีและย่าสางไส้ ที่กล่าวกันว่าเป็นผู้มีอำนาจมากเป็นผู้สร้างมนุษย์คู่แรกขึ้น มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นลูกหลานปู่สางสีและย่าสางไส้ทั้งสิ้น นอกจากนั้น นิทานประเภทนี้ยังใช้อธิบายที่มาของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ตำนานขอฝน ตำนานข้าว เป็นต้น
๒.นิทานมหัศจรรย์ เป็นนิทานเกี่ยวกับของวิเศษ สิ่งมหัศจรรย์ และสิ่งต่างๆที่มนุษย์ใฝ่ฝันอยากจะได้ เช่น การแปลงตัว การเหาะเหินเดินอากาศ การเนรมิตของวิเศษ ฯลฯ นิทานไทยที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็ได้แก่ นิทานจักรๆวงศ์ๆทั้งหลาย ที่มีเจ้าหญิง เจ้าชายและของวิเศษต่างๆคอยช่วยเหลือพระเอกนางเอก เช่น นางสิบสอง นางอุทัยเทวีพระสุธน-มโนราห์ เป็นต้น
๓.นิทานชีวิต เป็นนิทานที่เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง มีบุคคลและสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริง นิทานชีวิตไทยบางเรื่องก็มีลักษณะเป็นนิทานประจำถิ่นด้วย เช่น ไกรทอง เป็นนิทานประจำจังหวัดพิจิตร หรือ เรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ของสุพรรรณบุรีและกาญจนบุรี
๔.นิทานประจำถิ่น เป็นนิทานที่เล่าสืบทอดกันมาในท้องถิ่นต่างๆ และเชื่อกันว่าเคยเกิดขึ้นจริงๆ เนื้อเรื่องมักเกี่ยวข้องหรืออธิบายความเป็นมาของสิ่งต่างๆ หรือสถานที่ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ๒ ประการ คือ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา เกาะ ถ้ำ ฯลฯ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถูปเจดีย์ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ ได้แก่ เรื่องพระร่วง ที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างสวนขวัญสระอโนดาตในสุโขทัย พระยากง-พระยาพาน เล่าถึงปฐมเหตุแห่งการสร้างพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ
๕.นิทานคติสอนใจ เป็นนิทานเกี่ยวกับคุณค่าของจริยธรรมและผลแห่งกรรม เชื่อว่าทำกรรมดีย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบแทน กรรมดี ก็ได้แก่ ความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ กรรมชั่ว ได้แก่ ความอกตัญญู ความใจร้าย ความทุจริต ฯลฯ
๖.นิทานอธิบายสาเหตุ เป็นนิทานที่เล่าถึงสาเหตุที่มนุษย์ สัตว์ และพืช มีรูปร่าง สีสัน ลักษณะหรือความประพฤติต่างๆ เช่น เหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ ทำไมกาจึงมีขนสีดำ เป็นต้น
๗.นิทานเรื่องสัตว์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะ อุปนิสัยของสัตว์ เช่น แมวชอบกินหนู สัตว์เจ้าเล่ห์ อย่างลิง กระต่าย จระเข้ ฯลฯ
๘.นิทานเรื่องผี จะมีหลายอย่าง เช่น ผีคนตาย ผีบ้านผีเรือน ผีประจำต้นไม้ และผีสิงในร่างคน เป็นต้น สำหรับผีคนตายก็มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีตายโหง ผีตายทั้งกลม เช่น แม่นาคพระโขนง ผีบ้านผีเรือน ก็ได้แก่ผีดีที่คอยรักษาบ้านเรือน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองป้องกันภัยให้ลูกหลาน ส่วนผีตามต้นไม้ ก็ได้แก่ ผีต้นตะเคียน และผีป่า ที่มีทั้งช่วยคุ้มครองและคอยหลอกหลอนคน ผีที่ชอบสิงตามร่างคน ได้แก่ ผีปอบ ผีกระสือ ผีโพง ที่มักกินของสดของคาว
๙.นิทานมุขตลก มี ๒ ประเภทคือ มุขตลกหยาบโลน ส่วนใหญ่มักล้อเลียนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ พระ ชี หรือล้อเลียนเครือญาติ เช่น ลูกเขยแม่ยาย พี่เขยน้องเมีย พ่อผัวลูกสะใภ้ ส่วนมุขตลกไม่หยาบโลน มักมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความโง่ ความฉลาด ความเปิ่น ความเกียจคร้าน บางครั้งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนต่างชาติต่างถิ่น ที่ขาดความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน
๑๐.นิทานโม้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อเกี่ยวกับสิ่งใหญ่โต เช่น เรื่องอ้ายง้มฟ้า ของภาคเหนือ ที่มีรูปร่างใหญ่โตเกือบจรดฟ้า เรื่องโม้อีกประเภทเป็นเรื่องความสามารถพิเศษหรือพลังมหาศาล เช่น เรื่องอ้ายเจ็ดไห ที่กินข้าวทีเดียวหมดไปเจ็ดไหทั้งที่เป็นทารกเพิ่งเกิด และเป็นคนมีกำลังวังชามากจนสามารถยกเรือสำเภาได้ เรื่องโม้อีกประเภทเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์อันผิดวิสัยหรือเหตุบังเอิญเหลือเชื่อ
๑๑.นิทานเข้าแบบ มี ๒ ประเภทคือ นิทานไม่รู้จบ และนิทานลูกโซ่ นิทานไม่รู้จบก็คือนิทานที่เล่าไปได้เรื่อยๆไม่มีวันจบ เช่น เรื่องชาวประมงทอดแห ได้ปลาเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งดึงแหขึ้นมา แหขาดไปรูหนึ่ง ปลาก็หลุดรอดไปตัวหนึ่ง เล่าถึงตอนนี้ ก็จะหยุดดู คนฟังก็มักจะถามเพื่อให้เล่าต่อ คนเล่าก็จะเล่าต่อว่า แล้วปลาตัวที่สองก็หลุดไป (หยุด) ตัวที่สามก็หลุดไป (หยุด) แบบนี้ไปเรื่อย ไม่มีวันจบ ส่วนนิทานลูกโซ่ ก็เป็นการเล่าพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เช่น เรื่องยายกับตา ปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง :
ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาระบบความสัมพันธ์ในนิทานพื้นบ้านของชาวมุสลิม : กรณีศึกษาบ้านคลองตะเคียน โดย คุณวิชา ทรวงแสวง อาจารย์ประจำสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
website : www.thaiedresearch.org
และ blog : http://krever.exteen.com/20060407/entry เกี่ยวกับเรื่องราวของนิทานไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

:: introduce ::

<< สวัสดีค่ะ..ยินดีต้อนรับสู่ tinytarn spaces นะคะ >>
สำหรับบล็อกนี้จะนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน ซึ่งทางผู้จัดได้กำลังศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญา ความเชื่อ วิถีชีวิต ประเพณี และค่านิยม ของวรรณกรรม หวังว่าผู้เยี่ยมชมจะได้ประโยชน์จากบล๊อกน้อยๆบล๊อกนี้นะคะ และขอขอบคุณแหล่งข้อมูลต่างๆไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ