โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๒๖ กล่าวถึง นิทานพื้นบ้าน ไว้ว่า คือ เรื่องที่เล่ากันต่อๆมาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งโดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง เช่น นิทานเรื่องสังข์ทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม เป็นการเล่าจากปู่ยาตายายของเรา พ่อแม่ของเรารวมทั้งตัวเราเองไปสู่ลูกหลานเหลนโหลนของเราเป็นทอดๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า บ้างครั้งก็แพร่กระจายจากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง นิทานพื้นบ้านหมายถึง เรื่องที่เล่าสืบกันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยวาจา แต่ก็มีจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกไว้แล้ว (กิ่งแก้ว อัตถาวร ๒๕๑๙ : ๑๒) การศึกษารวบรวมนิทานพื้นบ้านได้กระทำกันอย่างจริงจัง เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา นิทานเป็นมรดกของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ทุก ๆ วัฒนธรรม มีทั้งความแตกต่างหลากหลาย และความเหมือนกัน นิทานถือว่าเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง และมีความสำคัญในการเข้าถึงวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน (Element of Culture) (Stith Thompson : ๑๙๔๖)ลักขณา ดาวรัตนหงษ์ (๒๕๒๘) นิทานพื้นบ้านมีความสำคัญ 3 ประการ เช่นกันคือ1. ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเจ้าของนิทาน เช่น ความรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ จารีตประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม สภาพเศรษฐกิจ ภูมิประเทศ และถิ่นฐานบ้านเรือน เช่น เรื่องพ่อตากับลูกเขย ลูกเขยกับแม่ยาย แสดงให้เห็นระบบครอบครัวไทยที่นิยมให้สามีไปอยู่บ้านภรรยา ตำนานท้องถิ่นให้คำอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนั้นรูปแบบการเล่านิทานที่ใช้คำประพันธ์เข้ามาช่วย เช่น แหล่ เทศน์ เสภา ยังช่วยสร้างความงามด้านรูปแบบอีกโสดหนึ่งด้วย ดังนั้นหากเยาวชนได้เรียนรู้ นิทานพื้นบ้านของตน จึงเป็นช่องทางในการรู้ตนเอง สามารถอธิบายตนเองได้ รวมทั้งอาจจะบอกได้ถึงข้อดีและข้อจำกัดในวัฒนธรรมนั้น ๆ ของตนได้2. ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ปรกติแล้วผู้เล่านิทานมักเป็นผู้ใหญ่หรือผู้มีประสบการณ์ และผู้ฟังมักจะเป็นเด็กหรือมีประสบการณ์น้อยกว่า การเล่านิทานพื้นบ้านเป็นกิจกรรมที่ยังความชื่นชอบในหมู่ผู้ฟังทุกหมู่ทุกเหล่า ปัจจุบันการเล่านิทานก็ยังมีอยู่โดยทั่วไป เพียงแต่จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรือผู้ฟังเท่านั้น3. สอนหรือสอดแทรกศีลธรรม จริยธรรมหรือให้คติเตือนใจ นอกเหนือจากบทบาท ๒ ประการ ดังกล่าวแล้ว นิทานยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ สื่อปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ศีลธรรม คุณธรรม แก่ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น นิทานชาดกต่าง ๆ นิทานอีสป นิทานสุภาษิต นิทานในศาสนาต่าง ๆ นิทานเหล่านี้ล้วนสอนให้ ผู้ฟังได้ตระหนักถึงคุณธรรมที่พึงประสงค์ ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น สอนให้มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้ยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้า สอนให้ระวังการใช้คำพูด สอนให้ไม่ประมาทในความสามารถของผู้อื่นโดยนักคติชนวิทยาได้แบ่งนิทานไทยออกเป็น ๑๑ ประเภท๑.นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา มักเป็นนิทานที่เล่าถึงกำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ สัตว์และพืช เพื่ออธิบายการเกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ลม ฝน สุริยคราส จันทรคราส เป็นต้น หรือเป็นการเล่าตำนานสร้างโลก เช่น เรื่องปู่สางสีและย่าสางไส้ ที่กล่าวกันว่าเป็นผู้มีอำนาจมากเป็นผู้สร้างมนุษย์คู่แรกขึ้น มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นลูกหลานปู่สางสีและย่าสางไส้ทั้งสิ้น นอกจากนั้น นิทานประเภทนี้ยังใช้อธิบายที่มาของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ตำนานขอฝน ตำนานข้าว เป็นต้น
๒.นิทานมหัศจรรย์ เป็นนิทานเกี่ยวกับของวิเศษ สิ่งมหัศจรรย์ และสิ่งต่างๆที่มนุษย์ใฝ่ฝันอยากจะได้ เช่น การแปลงตัว การเหาะเหินเดินอากาศ การเนรมิตของวิเศษ ฯลฯ นิทานไทยที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็ได้แก่ นิทานจักรๆวงศ์ๆทั้งหลาย ที่มีเจ้าหญิง เจ้าชายและของวิเศษต่างๆคอยช่วยเหลือพระเอกนางเอก เช่น นางสิบสอง นางอุทัยเทวีพระสุธน-มโนราห์ เป็นต้น
๓.นิทานชีวิต เป็นนิทานที่เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง มีบุคคลและสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริง นิทานชีวิตไทยบางเรื่องก็มีลักษณะเป็นนิทานประจำถิ่นด้วย เช่น ไกรทอง เป็นนิทานประจำจังหวัดพิจิตร หรือ เรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ของสุพรรรณบุรีและกาญจนบุรี
๔.นิทานประจำถิ่น เป็นนิทานที่เล่าสืบทอดกันมาในท้องถิ่นต่างๆ และเชื่อกันว่าเคยเกิดขึ้นจริงๆ เนื้อเรื่องมักเกี่ยวข้องหรืออธิบายความเป็นมาของสิ่งต่างๆ หรือสถานที่ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ๒ ประการ คือ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา เกาะ ถ้ำ ฯลฯ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถูปเจดีย์ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ ได้แก่ เรื่องพระร่วง ที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างสวนขวัญสระอโนดาตในสุโขทัย พระยากง-พระยาพาน เล่าถึงปฐมเหตุแห่งการสร้างพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ
๕.นิทานคติสอนใจ เป็นนิทานเกี่ยวกับคุณค่าของจริยธรรมและผลแห่งกรรม เชื่อว่าทำกรรมดีย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบแทน กรรมดี ก็ได้แก่ ความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ กรรมชั่ว ได้แก่ ความอกตัญญู ความใจร้าย ความทุจริต ฯลฯ
๖.นิทานอธิบายสาเหตุ เป็นนิทานที่เล่าถึงสาเหตุที่มนุษย์ สัตว์ และพืช มีรูปร่าง สีสัน ลักษณะหรือความประพฤติต่างๆ เช่น เหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ ทำไมกาจึงมีขนสีดำ เป็นต้น
๗.นิทานเรื่องสัตว์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะ อุปนิสัยของสัตว์ เช่น แมวชอบกินหนู สัตว์เจ้าเล่ห์ อย่างลิง กระต่าย จระเข้ ฯลฯ
๘.นิทานเรื่องผี จะมีหลายอย่าง เช่น ผีคนตาย ผีบ้านผีเรือน ผีประจำต้นไม้ และผีสิงในร่างคน เป็นต้น สำหรับผีคนตายก็มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีตายโหง ผีตายทั้งกลม เช่น แม่นาคพระโขนง ผีบ้านผีเรือน ก็ได้แก่ผีดีที่คอยรักษาบ้านเรือน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองป้องกันภัยให้ลูกหลาน ส่วนผีตามต้นไม้ ก็ได้แก่ ผีต้นตะเคียน และผีป่า ที่มีทั้งช่วยคุ้มครองและคอยหลอกหลอนคน ผีที่ชอบสิงตามร่างคน ได้แก่ ผีปอบ ผีกระสือ ผีโพง ที่มักกินของสดของคาว
๙.นิทานมุขตลก มี ๒ ประเภทคือ มุขตลกหยาบโลน ส่วนใหญ่มักล้อเลียนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ พระ ชี หรือล้อเลียนเครือญาติ เช่น ลูกเขยแม่ยาย พี่เขยน้องเมีย พ่อผัวลูกสะใภ้ ส่วนมุขตลกไม่หยาบโลน มักมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความโง่ ความฉลาด ความเปิ่น ความเกียจคร้าน บางครั้งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนต่างชาติต่างถิ่น ที่ขาดความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน
๑๐.นิทานโม้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อเกี่ยวกับสิ่งใหญ่โต เช่น เรื่องอ้ายง้มฟ้า ของภาคเหนือ ที่มีรูปร่างใหญ่โตเกือบจรดฟ้า เรื่องโม้อีกประเภทเป็นเรื่องความสามารถพิเศษหรือพลังมหาศาล เช่น เรื่องอ้ายเจ็ดไห ที่กินข้าวทีเดียวหมดไปเจ็ดไหทั้งที่เป็นทารกเพิ่งเกิด และเป็นคนมีกำลังวังชามากจนสามารถยกเรือสำเภาได้ เรื่องโม้อีกประเภทเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์อันผิดวิสัยหรือเหตุบังเอิญเหลือเชื่อ
๑๑.นิทานเข้าแบบ มี ๒ ประเภทคือ นิทานไม่รู้จบ และนิทานลูกโซ่ นิทานไม่รู้จบก็คือนิทานที่เล่าไปได้เรื่อยๆไม่มีวันจบ เช่น เรื่องชาวประมงทอดแห ได้ปลาเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งดึงแหขึ้นมา แหขาดไปรูหนึ่ง ปลาก็หลุดรอดไปตัวหนึ่ง เล่าถึงตอนนี้ ก็จะหยุดดู คนฟังก็มักจะถามเพื่อให้เล่าต่อ คนเล่าก็จะเล่าต่อว่า แล้วปลาตัวที่สองก็หลุดไป (หยุด) ตัวที่สามก็หลุดไป (หยุด) แบบนี้ไปเรื่อย ไม่มีวันจบ ส่วนนิทานลูกโซ่ ก็เป็นการเล่าพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เช่น เรื่องยายกับตา ปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง :ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาระบบความสัมพันธ์ในนิทานพื้นบ้านของชาวมุสลิม : กรณีศึกษาบ้านคลองตะเคียน โดย คุณวิชา ทรวงแสวง อาจารย์ประจำสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
website : www.thaiedresearch.orgและ blog :
http://krever.exteen.com/20060407/entry เกี่ยวกับเรื่องราวของนิทานไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ