วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

:: ภูมิหลังของนิทานพื้นบ้านเรื่องท้าวปาจิตกับนางอรพิม ::

ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พ.ศ.๒๐๒๕ - ๒๐๓๔)
ได้กล่าวถึงนิทานเรื่องท้าวปาจิตไว้ใน "โคลงทวาทศมาส" ความว่า

ประจิตเจียนเหน้าหน่อ ................อรพินท

พระพิราไลยปลง.........................ชีพแล้ว
คืนสมสุดาจินต...........................รสร่วม กันนา
กรรมแบ่งกรรมแก้วแก้ว.............ช่วยกรรม

มหา สุรารินทร์ (สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย) ได้อรรถาธิบาย ถึง นิทานเรื่อง ท้าวปาจิตนางอรพิม ความว่า นิทานเรื่องท้าวปาจิตนางอรพิมเป็นตำนานเมืองพิมาย (นิทานปัญญาสชาดก เรื่อง "ปาจิตตกุมารชาดก") เป็นกลอนแปด ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เอกสารสมุดไทย ค้นพบที่ วังหลัง ลีลากลอนสุภาพของสุนทรภู่นั้นมีแม่แบบจาก ตำนานท้าวปาจิตนางอรพิม (ตำนานเมืองพิมาย) ชำระพิมพ์โดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ อนึ่ง ต้นเรื่องนิทานคำกลอนจันทโครพก็มีความคล้ายคลึงกับนิทานเรื่องท้าวปาจิตนางอรพิมพ์ รวมถึง ฉากลาวัดในกลอนรำพันพิลาปของสุนทรภู่ ตรงกับฉาก ภายในวัดเทพธิดาราม ผู้ชำระนิทานเรื่องนี้คือทิพวัน บุญวีระ ข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร

ก่อนที่กรมศิลปากรจะเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับปราสาทหินพิมาย คนท้องถิ่นในพิมายมีความรับรู้เกี่ยวกับพิมายอยู่แล้ว แต่เป็นความเชื่อที่เล่าต่อกันมา ปากต่อปาก ถ่ายทองจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งในรูปของนิทานเรื่อง "ท้าวปาจิตกับนางอรพิม" ซึ่งรายละเอียดของเรื่องอาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละถิ่น แต่เค้าโครงเรื่องทั่วไปจะมีความคล้ายคลึงกันดังเนื้อเรื่องที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

นักวิชาการอธิบายว่านิทานเรื่องนี้คงเกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้คนโยกย้ายเข้ามาอยู่ในพิมาย ซึ่งโดยมากจะเป็นคนจากล้านช้างที่เข้ามาสมัยอยุธยา ผู้คนเหล่านี้คงไม่สามารถสืบหาคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาของโบราณวัตถุและโบราณสถานในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้ จึงสร้างเรื่องราวขึ้นมาบอกเล่าเป็นนิทานท้องถิ่นหรือนิทานพื้นเมือง ซึ่งต่อมานิทานเรื่องนี้ได้ถูกนำมารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ อยู่ในรูปของชาดกหรือเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในชื่อเรื่อง "ปาจิตตกุมารชาดก" ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าเป็นกลวิธีในการยกระดับนิทานพื้นบ้านให้มีความน่าเชื่อถือและมีความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง



หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนิทานเรื่องท้าวปาจิตกันางอรรพิมนั้น
มีหลายสำนวน บางสำนวนกล่าวว่า ทั้งสองได้กลับมาครองเมืองพิมาย ท้าวปาจิตทรงพระนามตามกษัตริย์องค์เดิมว่า พระเจ้าพรหมทัต และได้จัดงานพระศพพระเจ้าพรหมทัตองค์ก่อนอย่างสมพระเกียรติ สร้างเมรุเป็นหอสูงกลางใจเมืองชื่อว่า เมรุพรหมทัต ซึ่งปจจุบันสถานที่แหล่งนี้อยู่ห่างจากปราสาทหินพิมายประมาณ ๓๐๐ เมตร โดยเมรุพรหมทัตนี้เป็นซากโบราณสถานที่ตั้งอยู่กลางเมืองพิมายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมาย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยที่ กรมหมื่นเทพพิพิธมาประทับอยู่ที่เมืองพิมาย ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ได้ตั้งตนเป็นเจ้าพิมาย แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าเมรุพรหมทัต ด้วยเข้าใจว่าสถานที่นี้เป็นที่ถวายเพลิงพระศพของท้าวพรหมทัต ในตำนานพื้นบ้านเรื่องท้าวปาจิตกับนางอรพิมนั่นเอง



อีกสถานที่หนึ่งคือ"ปรางค์พรหมทัต" ตั้งชื่อตามพระเจ้าพรหมทัต ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยศิลาแลงมีส่วนประกอบบางส่วนเป็นหินทราย ใน ปรางค์พรหมทัตนี้ได้พบประติมากรรมซึ่งมีรูปสลักข้างในที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปของพระเจ้าพรหมทัตและของนางอรพิม ตามตำนาน แต่หลักฐานโบราณคดีนั้นคือรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งสมาธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระรูปเหมือน พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และประติมากรรมสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทรายเช่นกัน จึงน่าจะเป็นพระนางชัยราชเทวีมเหสีของพระองค์ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครทั้งสองรูป

ไม่มีความคิดเห็น: